นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


ความเป็นมา

           นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หรือที่เรียกว่า ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สร้างย่านหรือพื้นที่การเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าร่วม ยกระดับนิเวศการเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้บนฐานอัตลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น ยกระดับรายได้ ขีดความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชน 3) การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัล ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะแรงงานแห่งอนาคต 4) การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม และ 5) การพัฒนาต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
           เป้าหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและผู้คนในพื้นที่เทศบาลนคร นครศรีธรรมราช มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างหลากหลายเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นหลักฐานที่เป็นประโยชน์นำมาใช้ในการพัฒนาสร้างสำนึกรักท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและเป้าประสงค์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่ 4 สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าประสงค์ 11.4 เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก ขององค์การสหประชาชาติ ที่ทุกภาคส่วนควรได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ สร้างความตระหนัก เรียนรู้ เกิดสำนึกรักท้องถิ่น และมีการอนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางวัฒนธรรม และหากมีการเผยแพร่สู่สายตานักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาก จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ แทนที่คนไทยจะเป็นผู้บริโภควัฒนธรรมของชาติอื่นแต่ฝ่ายเดียว
           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ห้าประการ 1) เพื่อศึกษาท้องถิ่น สร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่และพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ที่สร้างสรรค์คุณค่าร่วม ยกระดับนิเวศการเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้บนฐานอัตลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น ยกระดับรายได้ และขีดความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชน 3) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัล มรดกทางวัฒนธรรม ที่เสริมสร้างทักษะดิจิทัล ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะแรงงานแห่งอนาคต 4) เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช 5) เพื่อพัฒนาต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ที่่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นการวิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR&D) โดยใช้ระเบียบวิธีแบบผสมผสาน(Mixed Method) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีวิธีดำเนินงานวิจัย แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาท้องถิ่น สร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ สร้างชุดองค์ความรู้มรดกทางวัฒนธรรมและพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ ระยะที่ 2 พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้บนฐานอัตลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น ยกระดับรายได้ และขีดความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชน ระยะที่ 3 พัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัล มรดกทางวัฒนธรรม ที่เสริมสร้างทักษะดิจิทัล ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะแรงงานแห่งอนาคต ระยะที่ 4 พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช ระยะที่ 5 พัฒนาต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยใช้พื้นที่เมืองเก่านครศรีธรรมราช ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัย มีประชากรทั้งหมด 41,988 คน กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ประกอบด้วย เด็กระดับปฐมวัย ประถม มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส พระภิกษุ สามเณร คนตกงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มนักท่องเที่ยว
           การขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่เริ่มต้นการวางแผน ออกแบบ พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมที่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการหลัก มาเป็นการส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ แบบบูรณาการร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับการวางแผนและการดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้มีการปรับความเข้าใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าการเรียนรู้ไม่ได้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านการศึกษาฝ่ายเดียวแต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานทุกภาคส่วน ทุกด้านได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาเมือง เทคโนโลยี สวัสดิการสังคม ความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย ตลอดจนความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน บทบาทและความร่วมมือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐจะต้องตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายแต่ละเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเต็มที่
           ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินการ คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ความเข้มแข็งของผู้นำท้องถิ่น และกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น จะต้องมีความร่วมสมัย สนุก น่าสนใจและสามารถจูงใจให้ผู้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
           สภาพการณ์ในปัจจุบัน จากการศึกษา พบว่า ความตระหนักรู้ในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของคนในชุมชน ยังอยู่ในระดับต่ำ นั่นคือ ชุมชนมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาในพื้นที่ของตนเองแต่เป็นความเข้าใจในระดับภาพรวมของเมือง และขาดความเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดการปฏิบัติจริงในชุมชน คนในชุมชนขาดการมองเห็นภาพรวมร่วมกัน และขาดการพูดคุยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นยังขาดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นว่า การให้ค่าความสำคัญในการปฏิบัติจริงนี้ยังน้อยอยู่
           คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ สังเกต สัมภาษณ์นักวิชาการ องค์กรอิสระ อาทิ วัฒนธรรมจังหวัด กลุ่มครีเอทีฟนคร มีข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีสถานที่ท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก มีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายของการอยู่รวมกันของคนพุทธ มุสลิม และเชื้อสายจีน มีศิลปะและหัตถกรรมที่โดดเด่น มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ปัญหาสำคัญที่ควรรีบดำเนินการแก้ไข คือ 1) ประชาชนเมืองนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ยังขาดความตื่นตัวในมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองมี และคิดที่จะหวงแหนหรือรักษาไว้ ด้วยการสืบสาน ต่อยอด จะมีก็เพียงบางกลุ่มเล็ก ๆ 2) ขาดการสื่อสารในวงกว้างที่จะสร้างความรัก ความตระหนัก ถึงทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง 3) ขาดการนำเอามรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม 4) นครศรีธรรมราราชมีเส้นทางการท่องเที่ยวปรากฏให้เห็น แต่เส้นทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ยังขาดงานทางวิชาการที่มาหนุนเสริมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
           จากสภาพปัจจุบัน ปัญหา แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจ วิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม เป็นการสร้างกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระหว่างเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและองค์กรชุมชนในพื้นที่ เพื่อศึกษา พัฒนาองค์ความรู้มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์แต่ละชุมชน ออกแบบ พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ และสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่หลากหลาย ร่วมสมัย ที่สอดคล้องกับบริบท ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้เดินทางมาเยี่ยมชมและเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม เมืองนครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม