นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม
Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City
หน้าแรก
ความเป็นมา
ย่าน
ย่านพระเวียง
ย่านเมืองเก่า
ย่านท่าวัง
ย่านท่าตีน
MOOC
พิพิธภัณฑ์
เกม
ภาคีเครือข่าย
สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
สำนักงานเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
TAT : Nakhon Si Thammarat + Phatthalung
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ติดต่อเรา
Login
ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม
ชื่อย่าน
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
ชนิดมรดกทางวัฒนธรรม
Search
มรดกทางวัฒนธรรม >> พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช
ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช
ตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช และตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้เท้าความตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วมีการแบ่งและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ ที่ต่างๆ โดยในคราวถวายพระเพลิงนั้น พระเกษมมหาเถระได้กำบังกายเข้าในกองเพลิงอัญเชิญพระทันตธาตุออกไปถวายพระเจ้าสิงหราชแห่งนครป่าหมาก ต่อมาเรียกนครนี้ว่าทนธบุรี มีกษัตริย์เมืองเมืองต่างๆ ยกทัพมาชิงพระทันตธาตุนี้มิได้ขาด จนกระทั่งกษัตริย์หนุ่ม 5 พระองค์ยกทัพเข้าประชิดเมือง พระเจ้าพระเจ้าสิงหราชคาดการณ์ว่าคงยากที่จะรักษาเมืองไว้ได้ จึงให้พระราชธิดา ราชบุตร คือ พระนางเหมชาลา และพระทนทกุมาร อัญเชิญพระทันตธาตุลงกำปั่นหนีไปกรุงลังกาที่ได้มาทูลขอหลายครั้งแล้ว แต่เรือกำปั่นถูกพายุพัดแตกกลางทะเลซัดทั้งสองพระองค์ขึ้นแล้วเดินมาถึงหาดทรายแก้ว จนเมื่อพระมหาเถรพรหมเทพพบเข้า ได้นำพระนางเหมชาลา และพระทนทกุมารอัญเชิญพระทันตธาตุต่อไปยังลังกาถวายต่อพระเจ้าทศคามมุนี โดยพระเจ้าทศคามมุนีได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุพร้อมผูกภาพยนต์ (หุ่นที่ผูกขึ้นด้วยฟ่อนหญ้า แล้วปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถา) รักษาไว้ในลังกา แล้วยังได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ 2 ทะนาน ให้แก่พระนางเหมชาลา และพระทนทกุมารอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นบริเวณที่พระทันตธาตุเคยมาสถิต ก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จกลับทนธบุรีที่ศึกสงบแล้ว โดยหาดทรายแก้วนั้น ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งเมืองเอาวราชทรงอพยพผู้คนหนีไข้ห่าลงมาทางใต้ตามลำดับถึงหาดทรายแก้ว ซึ่งได้แก้ไข้ห่าได้สำเร็จด้วยพิธีทำเงินตรานะโมแล้ว ให้ขุดหาพระบรมสารีริกธาตุ แก้ภาพยนต์ได้แล้วทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น
รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ไว้ดังนี้ “แม้ว่าจะมีผู้กล่าวว่าพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นของที่สร้างคลุมพระสถูปองค์เดิมภายในก็ตาม แต่ลักษณะก็เป็นของเก่าแก่ และเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลของพระเจดีย์แบบลังกา สันนิฐานว่าพระบรมธาตุเจดีย์คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชยังเป็นราชธานีของภาคใต้อยู่ลักษณะของพระเจดีย์ในระยะแรกนั้น มีเจดีย์เล็กประดับที่มุมทั้งสี่ และรอบๆ ฐานประดับด้วยช้างหัวโผล่หัวออกมานอกซุ้ม พระเจดีย์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครศรีธรรมราชเพราะได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่พระสถูปเจดีย์อีกหลายๆ องค์ ซึ่งสร้างขึ้นมาในสมัยหลังๆ จนทุกวันนี้ พระเจดีย์ธาตุนครศรีธรรมราชกลายเป็นเจดีย์ที่ส่งอิทธิพลในทางศิลปสถาปัตยกรรมไปยังเจดีย์ในภาคต่างๆ ทางภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย”
ตามตำนานระบุการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ที่หาดทรายแก้ว ไว้ว่า “เมื่อได้ภูมิชัยแล้ว เจ้ากากภาษาให้ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว และลึกเท่ากัน คือ 8 วา รองพื้นด้วยศิลาขนาดใหญ่อย่างมั่นคง ทำสระลูกหนึ่งด้วยปูนเพชรขนาดกว้างและลึก 2 วา เอาสิ่งต่างๆ ที่กษัตริย์ลังกาเคยถวายมาแต่ต้น คือ แม่ขันที่บรรจุน้ำพิษพญานาค (และมีเรือสำเภาทองซึ่งบรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุลอยในแม่ขันนั้น) ลอยลงในสระ นำเครื่องพุทธบูชาลงไปวางไว้ ให้หามตุ่มที่บรรจุทองคำขนาดตุ่มละ 38 คนหามลงไป 4 ตุ่ม วางไว้ที่มุมสระมุมละใบ เจ้ากากภาษาอุทิศว่าอย่าให้น้ำในสระเหือดแห้ง ธูปเทียนดอกไม้อย่าสูญหาย ขอให้ยืนยงอยู่จนศักราช 5,000 …… เมื่อผูกภาพยนต์ตามตำราแล้ว เจ้ากากภาษาก็ขึ้นมาให้วัดออกไปจากฐานนั้นข้างละ 8 วา ขุดลึกลงไป 4 วาครึ่ง ปักศิลาอย่างมั่นคง คือ ลึก 6 วาทั้ง 8 ด้าน ระหว่างศิลาแต่ละต้นให้ก่ออิฐสูง 4 วา ระหว่างเสาศิลาแต่ละต้นกับสระ ให้เรียงอิฐ ถัดจากเสาศิลาออกไปเรียงอิฐอย่างเรียบร้อยทุกต้นที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ถัดจากองค์ปรางค์ขึ้นไปใช้ศิลาอย่างแข็งแรง ถัดจากประทุมโกศขึ้นไปใช้เหล็กอย่างมั่นคงจนสุดยอด พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สูง 1 เส้น 15 วา 3 ศอก ภายในบรรจุด้วยแก้วแหวนเงินทองนานาชนิดที่มีผู้นำมาบูชา ที่ยอดประดับด้วยดวงแก้วที่พญานาคเคยนำมาบูชาพระบรมสารีริกธาตุแล้วพรานสุรีเก็บมาถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ข้างนอกใช้ปูนฉาบทำพระอรหันต์ยืนไหว้รอบพระบรมธาตุทั้ง 8 ทิศ ทิศละองค์ ส่วนที่อาสน์ของพระบรมธาตุเจดีย์ทำเป็นช้างล่อหัว จากนั้นทำบันไดขึ้นสู่พระเจดีย์นั้น ส่วนหัวเมืองน้อยใหญ่ได้ช่วยสร้างเสริมเจดีย์ พระพุทธรูปและวิหารต่างๆ มาโดยลำดับ”
มีผู้ให้ความหมายว่าพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราชนี้มีธรรมะนิยามอยู่มากมาย เช่น ฐาน 4 ด้าน รัตนเจดีย์ทิศ 4 มุม นั้นคืออริยสัจจ์ 4 ที่ลงเลข 8 คือ มรรคมีองค์ 8 แม้ปล้องไฉนก็เอาอายุของเวลาของพุทธศาสนาเป็น 52 ศตวรรษ โดยยอดทองคำหนึ่งเดียวสูงสุดนั้นคือนิพพานธรรมนั่นเอง
ปล้องไฉนของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนี้มีลักษณะพิเศษสำคัญที่ไม่เหมือนพระเจดีย์ใดๆ คือ ที่นิยมให้ตรงกับจำนวนชั้นภูมิเป็นปริศนาธรรม เช่น 3, 5, 6, 7, 8, 9, 11, 16, 20, 21,27, 28, 32 โดยที่พบพระเจดีย์สำคัญที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นมักนิยมใช้จำนวนรวมชั้นภูมิที่สำคัญไว้เป็นส่วนใหญ่ คือ 28 (มนุษยภูมิ + เทวภูมิ + รูปพรหมภูมิ + อรูปพรหมภูมิ + นิพพาน) หรือ 21 (เทวภูมิ + รูปพรหมภูมิ + อรูปพรหมภูมิ + นิพพาน) หรือ 21 (รูปพรหมภูมิ + อรูปพรหมภูมิ + นิพพาน) หรือใช้จำนวนรวมของชั้นภูมิทั้งหมดที่มีในไตรภูมิมากำหนดจำนวนปล้องไฉน คือ 32 (อบายภูมิ + มนุษยภูมิ + เทวภูมิ + รูปพรหมภูมิ + อรูปพรหมภูมิ + นิพพาน) กล่าวคือพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีมากถึง 52 ปล้อง ที่มิได้ตรงกับจำนวนชั้นภูมิใดๆ ทั้งสิ้น มีผู้อธิบายว่าน่าจะหมายถึง 1 + 50 + 1 โดยจำนวน 100 แรกคือศตวรรษแรกที่พระพุทธองค์สมเด็จพระมหาสมณโคดมทรงประสูติ เสด็จออกผนวช ตรัสรู้ เผยแผ่พระธรรมและเสด็จสู่พระปรินิพพาน จำนวน 5,000 ต่อมาหมายถึงอายุของพุทธศาสนาจนครบสมัยของพระศาสนาที่พระมหาสมณโคดมทรงประกาศเผยแผ่ และจำนวน 100 หลังหมายถึงศตวรรษที่พระศรีอาริยเมตไตรยทรงประสูติ เสด็จออกผนวช ตรัสรู้ ประกาศพระศาสนาจนกระทั่งเสด็จสู่พระปรินิพพานนั่นเอง
ปลียอดทองคำของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เมื่อครั้งบูรณะได้มีการชั่งรวมน้ำหนักทองคำได้ประมาณ 216 กิโลกรัม โดยพบแผ่นที่มีจารึกไว้ 74 รายการ ที่อ่านและแปลแล้ว 40 รายการ เป็นลายเส้นพระพุทธรูปบ้าง เจดีย์ทรงต่าง ๆ บ้าง ที่เป็นอักษรมีทั้งอักษรขอมและอักษรไทยระบุเรื่องการซ่อม น้ำหนักทอง นามและถิ่นพำนักของคณะผู้ซ่อม พร้อมแสดงความปรารถนาอานิสงส์ให้ได้พบพระศรีอารย์บ้าง ให้ได้ถึงพระนิพพานบ้าง โดยจารึกที่ระบุศักราชเก่าที่สุดคือ พ.ศ. 2155 ตรงกับสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยแผ่นที่ศักราชยิ่งเก่ายิ่งอยู่ตอนบนขึ้นไปแสดงว่ามีการซ่อมสร้างบำรุงตลอดเวลา และที่สำคัญคือที่บริเวณแกนปลีใต้กลีบบัวหงายปรากฏจารึกบนแกนโลหะรอบแกนปลีเป็นหลักฐานชัดว่ายอดพระบรมธาตุเจดีย์เคยชำรุดหักลงแล้วได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2190 ดังคำจารึกว่า “พุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรลบหาสู่ยอดเจ้าหั้นแล เมื่อได้ทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์ เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย” นอกจากนี้บนแผ่นทองคำตลอดระยะของปลียอดมีการตกแต่งด้วยกระเปาะพลอยรูปลักษณะสีสัน และลวดลายต่างๆ เช่น ดอกพิกุล ประจำยาม ถึง 31 แถว กับยังมีสิ่งของมีค่าอีกมากมายที่ร้อยผูกแขวนอยู่ตามแต่คนศรัธาถวาย และที่สำคัญของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชคือบริเวณส่วนปลายของปลียอดที่ทำเป็นบัวหงายรองรับพุ่มข้าวบิณฑ์นั้นยังได้ประดิษฐ์เครื่องสักการบูชาด้วยแก้วแหวนเงินทองเป็นดอกไม้ทองคำมีกลีบและใบซ้อนกันบางๆ ประดับพลอยและลูกแก้วธรรมชาติที่วิจิตรสวยงามมากทั้งส่วนแกนกลุงและพุ่มกรงแก้วจนถึงปลายสุดที่ประดับด้วยดอกไม้ทิศเพชรซีก 4 ทิศล้อมหม้อทองคำที่ยกสูงหงายไว้เสมือนบาตรรับน้ำแล้วให้ระเหยกลับสู่อากาศประหนึ่งน้ำมนต์พรมไปทั่ว เฉพาะกรงแก้วทั้งสี่ซี่นั้นสวมลูกแก้วใสซี่ละ 16 ลูก รวม 4 ซี่ 64 ลูก ในขณะที่แกนกลางนั้นสวมดวงแก้ว 9 ลูก มีผู้ให้ความหมายถึงมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 นั่นเอง
พื้นที่ : ย่านเมืองเก่า
เวลาที่บริการ : 08.30-16.00 น.
แหล่งอ้างอิง : หนังสือเรียนรู้ บูชา พระบรมธาตุเมืองนคร
Counter of page 297