นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


มรดกทางวัฒนธรรม >> วัดจันทาราม



ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : วัดจันทาราม
วัดจันทาราม เป็นวัดสำคัญของย่านท่าวัง ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของวัดมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยราชกาลที่ 5 วัดจันทารามเป็นศูนย์กลางการปกครองของคณะสงฆ์ลังกาเดิม และเป็นศูนย์รวมของงานช่างหลายแขนง ดังปรากฏกล่าวขานกันเป็นกลอนว่า “ใครอยากเป็นนายให้ไปอยู่วัดท่าโพธิ์ ใครอยากกินขนมโคไปอยู่วัดวัง ใครอยากเป็นช่างไปอยู่วัดจัน ใครอยากขึ้นวรรค์ไปอยู่วัดพระนคร...” ร่องรอยความรุ่งเรืองทางการช่างยังคงปรากฏอยู่ผ่านงานสถาปัตยกรรมในวัด ได้แก่ โบสถ์ทรงไทยมีมุขประเจิดรูปแบบเดียวกับวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยการนำของพระครูกาเดิม (ทอง) เจ้าอาวาสของวัดที่เป็นชาวกลันตัน และกุฏิแบบไทยผสมฝรั่งมีลายฉลุ สีสันสวยสด จำนวน 2 หลัง สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและผ่านการเวลามากกว่า 100 ปี
อีกหลักฐานงานช่างที่สำคัญที่สุดของวัด คือ พระลาก พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสำหรับนำออกชักลาก เพื่อเป็นสิริมงคลแก้บ้านเมืองไปตามถนนหนทางในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถือเป็นรูปแทนของพระพุทธองค์เมื่อเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์แล้วออกโปรดมนุษย์สัตย์ทั้ง 3 โลก
แกนภายในของพระลากทำจากไม้ขนุนทอง บุหุ้มด้วยแผ่นเงินและทองคำ ทรงเครื่องชฎาและภูษาอาภรณ์แบบโบราณ จำนวน 5 องค์ ซึ่งสร้างโดยกลุ่มช่างฝีมือที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ด้านหลังวัดจันทารามย้อนไปร่วมร้อยปีก่อน และปรากฏว่าช่างฝีมือกลุ่มนี้ยังได้รับทำพระลากที่มีคุณลักษณะแบบเดียวกันให้กับวัดอื่น ๆ ในนครศรีธรรมราชอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อปี พ.ศ. 2565 ได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นเทคนิคการทำพระลากแบบโบราณนี้กลับคืนมาสำเร็จ เป็นพระลากแกนไม้ขนุนทองบุเงินอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ร่วมกับพระลากโบราณของวัดในอาคาร เรียกว่า หอพระลาก หรือมณฑปพระลาก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุโบสถ
พื้นที่ : ย่านท่าวัง
เวลาที่บริการ : 07.00 - 20.00 น.
แหล่งอ้างอิง : ปรีดา นัคเร สุภาวดี พรหมมา ลดาวัลย์ แก้วสีนวล ศิรินันท์ พันธรักษ์ พรศิลป์ บัวงาม และ ปุณยวีร์ ศรีรัตน์. (2566). คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช. https://www.nakhonsi.org/travel_route_guide.pdf


Counter of page 204