นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


มรดกทางวัฒนธรรม >> ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช



ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช
พระเสื้อเมือง คือ เทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมือง มีหน้าที่ในการป้องกันมิให้ภัยอันตรายเกิดแก่บ้านเมือง ประทานพรความสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บ้านเมืองและประชาชน ตลอดจนให้ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยพาล แคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีพระเสื้อเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี โดยพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ คือ พระอิศวร (พระศิวะ) เป็นต้นแบบของพระเสื้อเมือง กล่าวคือ เทวรูปพระเสื้อเมืองมีพระเนตรที่ 3 สวมสร้อยประคำ และทำท่ามุทราเหมือนเทวรูป ซึ่งแตกต่างจากรูปเคารพพื้นเมืองที่เคยมีมา อีกทั้งยังมีเทวรูปเป็นเทวสตรีที่อยู่คู่กัน เรียกว่า พระแม่เมือง ซึ่งเปรียบได้กับศักติ หรือเทวีคู่กันกับพระเสื้อเมือง ในด้านประวัติความเป็นมา ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่า ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชสถาปนาขึ้นเมื่อใหร่ แต่สันนิษฐานจากอายุของโบราณสถานพระสยมภูวนาท (อายุ 800 – 900 ปี) ที่ในบริเวณเดียวกัน องค์พระเสื้อเมืองและพระแม่เมือง จากข้อมูลและหลักฐานต่างๆ คงมีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี ซึ่งหลักฐานการบันทึกทำให้สามารถแบ่งช่วงเวลาต่างๆ ของศาลพระเสื้อเมืองได้ ดังต่อไปนี้
  1. ยุคอยุธยา – ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคแรกของศาลพระเสื้อเมือง ที่นี้ถูกเรียกว่า “สถานพระเสื้อเมือง” ซึ่งปรากฏอยู่ใน “ตำราพระราชพิธีตรุษและสารทสำหรับเมืองนครศรีธรรมราช” ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2336 (อยู่ในยุครัชกาลที่ 1) ซึ่งในตำราดังกล่าวได้บรรยายถึงการประกอบพิธีบวงสรวงพระเสื้อเมือง เป็นส่วนหนึ่งพระราชพิธีตรุษเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในยุคของพระเจ้านครศรีธรรมราช (เจ้าพระยานครหนู) ยุคอยุธยา – ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สถานพระเสื้อเมืองได้รับการดูแลโดยกรมการเมืองฯ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 ได้มีการยกเลิกระบบเจ้าเมืองทำให้ผู้ดูแลสถานพระเสื้อเมืองว่างลง
  2. ช่วงปี พ.ศ. 2467 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่บ้านและจากกลุ่มชาวจีนที่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) (อ้างอิงจาก หนังสือ “สาสน์สมเด็จ เล่ม 17” บันทึกโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2467) ในยุคนี้ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอาคารหลังคามุงจาก ฝาผนังเป็นไม้ไผ่สาน สร้างครอบบริเวณสถานพระเสื้อเมืองเดิม
  3. ช่วงปี พ.ศ. 2479 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชได้รับการขึ้นทะเบียนประกาศเป็นโบราณสถานในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479
  4. ช่วงปี พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2500 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช บูรณะจากอาคารหลังคามุงจาก เป็นอาคารไม้มุงกระเบื้องเผา
  5. ช่วงปี พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2552 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช ประสบความเสียหายจากวาตภัยแฮเรียต (พายุแหลมตะลุมพุก) เมื่อปี พ.ศ. 2505 จึงมีการบูรณะศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นใหม่โดยสร้างเป็นอาคารชั้นเดียว แล้วเสร็จในปี 2508 หลังจากที่บูรณะศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จไม่นาน ศาลเจ้าตาขุนลกได้เชิญรูปเคารพตาขุนลกและกระถางธูปมาประดิษฐานที่ศาลพระเสื้อเมืองเป็นการถาวร
  6. ในปี พ.ศ. 2552 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชชำรุดทรุดโทรมลง คณะกรรมการศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชจึงยื่นหนังสือขออนุญาตบูรณะแก่กรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2553 กรมศิลปกรอนุญาตให้มีการบูรณะทางคณะกรรมการ จึงทำการสร้างศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ โดยใช้สถาปัตยกรรมจีนเป็นหลัก แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2557
ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านกิจกรรม และด้านสถาปัตยกรรม จนทำให้ในปี พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2563 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชได้รับรางวัลศาลเจ้าบริหารงานดีเด่น ระดับจังหวัด และในปี พ.ศ. 2563 ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชได้รับรางวัลศาลเจ้าดีเด่น รองอันดับ 2 ในระดับประเทศ ประเภทศาลเจ้าขนาดเล็ก ในปัจจุบันศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากจะมีพระเสื้อเมือง พระแม่เมือง ปุ่นเถ่ากง ปุ่นเถ่าม่า และตาขุนลก เป็นที่สักการะบูชาแล้ว ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้ศรัทธาเข้าไปสักการะขอพรตามความเหมาะสมกับสิ่งที่ปราถนา เช่น ไฉ่ซิ่งเอี๊ยะ เทพโชคลาภ ไท่ส่วยเอี๊ยะ เทพคุ้มครองดวงชะตา ตั่วเหล่าเอี้ยะ (เจ้าพ่อเสือ) พระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นต้น
ปัจจุบันศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ถนนพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะขอพรได้ทุกๆ วัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น.
พื้นที่ : ย่านเมืองเก่า
เวลาที่บริการ : 8.00 – 16.00 น.
แหล่งอ้างอิง : แผ่นพับประชาสัมพันธ์ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราช


Counter of page 263