นครศรีธรรมราช : เมืองแห่งการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม


Nakhon Si Thammarat : Cultural Heritage Learning City


มรดกทางวัฒนธรรม >> โบราณสถานฐานพระสยม



ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม : โบราณสถานฐานพระสยม
โบราณสถานฐานพระสยม ตั้งอยู่ริมถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ฐานพระสยม ปรากฏชื่อครั้งแรกในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช คำว่า “พระสยม” หรือ “พระสยมภูวนาถ” เป็นพระนามหนึ่งของพระอิศวร หมายถึง “ผู้ที่เกิดขึ้นเอง” ลักษณะศาสนสถานเหลือเพียงส่วนฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปไปทางทิศตะวันออก อาคารแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก เป็นห้องคูหารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในประดิษฐานศิวลึงค์บนฐานโยนี ส่วนที่สอง พบร่องรอยพื้นอิฐติดต่อกับฐานอาคารยาวต่อเนื่องไปทางด้านหน้า มีแท่นฐานเสา สันนิษฐานว่าส่วนนี้เป็นอาคารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง และมีแท่นฐานที่สันนิษฐานว่าสำหรับประดิษฐานรูปโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร (ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของฐานโยนิอีกฐานหนึ่ง)
ดร.ควอริทช์ เวลส์ ( H.G. Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เคยขุดค้นเมื่อปี 2478 พิจารณาโบราณวัตถุ ศิวลึงค์ และฐานโยนินั้น เป็นวัตถุรุ่นเก่าอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 แต่มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อประกอบกันแสดงว่าโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นถูกนำมาจากแหล่งชุมชนโบราณแห่งอื่น (คนละแห่ง) ขณะที่ลักษณะของโบราณสถานกำหนดอายุได้ไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 16-17
อย่างไรก็ตามการปรากฏขึ้นของฐานพระสยม แสดงให้เห็นถึงการแพร่เข้ามาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ในเขตเมืองนครศรีธรรมราช อย่างน้อยก็ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 จึงอาจเป็นไปได้ว่า ฐานพระสยม คือ หอพระอิศวรดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการสร้างหอพระอิศวร ในสมัยอยุธยา ที่ถนนราชดำเนินก็เป็นได้
อนึ่ง ในอดีตบริเวณด้านหน้าฐานพระสยมเคยมี "หินหลัก" ปักอยู่ ซึ่งหินหลักนี้แต่เดิมเคยตั้งอยู่บริเวณถนนท่าชีก่อนที่จะย้ายมาตั้งบริเวณฐานพระสยม พิจารณาลักษณะของหินหลักแล้วพบว่าเป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหรือกรอบประตูศิลา ปัจจุบันหินหลักเก็บรักษาอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานฐานพระสยมในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 126 หน้า 3982 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 เนื้อที่โบราณสถาน 2 งาน 14.32 ตารางวา
พื้นที่ : เมืองเก่า ชุมชนท่าชี
เวลาที่บริการ : ตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งอ้างอิง : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช


Counter of page 145